ที่ตั้ง

ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของทวีปเอเชีย มีพื้นที่ 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร นับว่าใหญ่ที่สุดของทวีปเอเชีย มีพรมแดนติดต่อประเทศต่าง ๆ โดยรอบ 15 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีเหนือ รัสเซีย มองโกเลีย คาซัคสถาน เคอร์กิซสถาน ทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย เนปาล สิกขิม ภูฐาน พม่า ลาว และเวียดนาม โดยมีเส้นพรมแดนทางบกยาวกว่า 2 หมื่นกิโลเมตร ขณะที่ทิศตะวันออกและทิศใต้จดทะเลเหลือง ทะเลจีนตะวันออก และทะเลจีนใต้

 

ประชากร

สาธารณรัฐประชาชนจีน มีประชากรประมาณ 1,374,620,000 คน ไม่รวมเขตบริหารพิเศษฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน (สิ้นปี 2558)

เมืองหลวง

ปักกิ่งหรือเป่ยจิงตามภาษาราชการจีน ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เป็นศูนย์กลางการปกครองของประเทศ ศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจการค้า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวัฒนธรรม เป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตต่างๆ หน่วยงานของสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศ สำนักข่าวจากต่างประเทศ รวมทั้งบริษัทต่างชาติจำนวนมาก

รูปแบบการปกครอง

สถาปนา ประเทศเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2492 มีพรรคคอมมิวนิสต์จีนดำเนินการปกครองประเทศตามแนวทางพื้นฐานของลัทธิมาร์กซ์ -เลนิน และความคิดเหมา เจ๋อตง โดยประยุกต์เข้ากับแนวทฤษฎีการสร้างสรรค์ความทันสมัยให้แก่ระบอบสังคมนิยมของนายเติ้ง เสี่ยวผิง พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นแกนนำในการปกครอง โดยมีพรรคการเมืองอื่นอีก 8 พรรค เป็นแนวร่วม ภายใต้การปกครองในลักษณะสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะแบบจีน

เขตการปกครอง

การปกครองส่วนกลางแบ่งออกเป็น 23 มณฑล (รวมถึงไต้หวัน) 5 เขตปกครองตนเอง (มองโกเลีย หนิงเซี่ย ซินเจียง กวางสี และทิเบต) 4 มหานครที่ขึ้นต่อส่วนกลาง (ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน และฉงชิ่ง) และ 2 เขตบริหารพิเศษ(ฮ่องกง และมาเก๊า) สำหรับการปกครองในส่วนภูมิภาคยังแบ่งย่อยออกเป็น 159 จังหวัด (Prefecture) , 2,017 อำเภอ (County), 350 เมือง (City) และเขตในเมืองต่างๆ ประมาณ 630 เขต

ธงชาติ

ธงชาติจีนเป็นรูปดาวสีเหลือง 5 ดวงบนพื้นสีแดง ดาวดวงใหญ่หมายถึงพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งเป็นผู้นำ ดาวเล็กทั้ง 4 ดวง หมายถึง ชนชั้น ที่ประกอบขึ้นเป็นสังคมจีน คือ ชนชั้นกรรมกร ชนชั้นชาวนา ชนชั้นนายทุนน้อย และชนชั้นนายทุนแห่งชาติ ซึ่งมีความหมายถึงเอกภาพของประชาชนจีนทุกชนชั้นภายใต้การนำของพรรค คอมมิวนิสต์จีน

ชนชาติ

มีชนชาติต่าง ๆ อยู่รวมกัน 56 ชนชาติ โดยเป็นชาวฮั่น ร้อยละ 93.3 ที่เหลือเป็นชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ชนเผ่าจ้วง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตปกครองตนเองกวางสีและมณฑลยูนนาน ชนเผ่าหุยในมณฑลหนิงเซี่ยและกานซู ชนเผ่าอุยกูร์ในมณฑลซินเกียง ชนเผ่าหยีในมณฑลเสฉวน ชนเผ่าทิเบตในเขตปกครองตนเองทิเบตและมณฑลชิงไห่ ชนเผ่าแม้วในมณฑลยูนนานและกุ้ยโจว ชนเผ่าแมนจู ในมณฑลทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชนเผ่ามองโกลในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในและซินเจียง ชนเผ่าไตหรือไทในมณฑลยูนนาน และชนเผ่าเกาซันในไต้หวัน





ภาษาราชการ

ภาษาจีนกลาง (ผู่ทงฮว้า普通话) เป็นภาษาราชการ ชาวจีนในมณฑลต่างๆ มีภาษาพูดท้องถิ่นที่แตกต่างกัน เช่น เสฉวน หูหนาน แต้จิ๋ว ไหหลำ กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ฮักกา และเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น และการออกเสียงภาษาจีนกลางก็มีสำเนียงเพี้ยนไปตามท้องถิ่น

ศาสนา

ลัทธิขงจื้อ เต๋า พุทธ อิสลาม และคริสต์ โดยเฉพาะความคิดลัทธิขงจื้อและเต๋ามีอิทธิพลหยั่งรากลึกซึ้งในภาษาและ วัฒนธรรมของจีนมานับพันๆ ปี

เงินตรา

สกุล เงินเรียกว่า “เหรินหมินปี้” (人民币)โดยมีหน่วยเรียกเป็น “หยวน” (元)มีอัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5.4496 บาท, 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 6.2284 หยวน (สถิติเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2558)

 

ที่มา : http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/about-china/

Leave a Reply