มติคณะรัฐมนตรีที่วงการอสังหาริมทรัพย์เฝ้ารอคอย 14 กันยายน 2564

หากทำสำเร็จจะเป็นผลงานชิ้นโบแดงของ “รองพงษ์-สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และทีมงาน

ข้อสั่งการ 6 หน่วยงาน

โดยการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคาร 14 กันยายน 2564 เห็นชอบ “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย” และมอบหมาย ดังนี้

1.ให้ “BOI-สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน” จัดตั้งหน่วยบริการพิเศษ LTR Service Center ขึ้นเพื่อสนับสนุนและเชิญชวนให้ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้ามาเป็นผู้พำนักระยะยาวในประเทศไทย

2.ให้ “มท.-กระทรวงมหาดไทย” กำหนดวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาวใหม่ รวมทั้งข้อยกเว้นและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง แบ่งเป็น

2.1 ยกเว้นให้ผู้ถือวีซ่าผู้พำนักอาศัยระยะยาว และวีซ่า smart visa ทั้งหมด ไม่ต้องมีหนังสือแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ หากอยู่ในประเทศเกิน 90 วัน ตามมาตรา 37 (5) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และให้มีคุณสมบัติของผู้ขอวีซ่า สิทธิประโยชน์ และรายละเอียดอื่น ๆ ตามที่เสนอ

2.2 ให้ศึกษาแนวทางการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดิน ในทางปฏิบัติเป็นการรีวิวกฎหมายเพื่อเปิดทางให้ชาวต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน

 

3.ให้ “กระทรวงแรงงาน” บริหารจัดการการทำงานและอนุญาตให้ทำงานของคนต่างด้าว โดยให้ผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาวสามารถทำงานให้นายจ้างทั้งที่อยู่ในราชอาณาจักรและนอกราชอาณาจักรได้โดยอัตโนมัติ พร้อมกับการขอวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว

4.ให้ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การพิจารณาออกใบอนุญาตทำงาน ที่กำหนดให้การจ้างคนต่างด้าว 1 คน ต้องจ้างคนไทยทำงานประจำ 4 คน ตามคำสั่ง ตช. ที่ 327/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณากรณีคนต่างด้าวขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว

5.ให้ “กระทรวงการคลัง” ทำส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษีและระเบียบวิธีปฏิบัติด้านการศุลกากร ดังนี้

5.1 ลดอากรขาเข้ากึ่งหนึ่งเป็นเวลา 5 ปี สำหรับการนำเข้าไวน์ สุรา ยาสูบประเภทซิการ์

5.2 ปรับปรุงพิธีการศุลกากรของผู้โดยสารเครื่องบิน โดยให้ใช้หลักพิจารณาจากปริมาณ จำนวน หรือสภาพสิ่งของ ว่าเป็นไปเพื่อการใช้ประโยชน์ส่วนตนหรือไม่ แทนการพิจารณาจากมูลค่าสิ่งของ

5.3 กำหนดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ถือวีซ่าผู้พำนักระยะยาวประเภทกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ โดยเทียบเคียงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

6.ให้ BOI เป็นหน่วยงานบริหารจัดการวีซ่าผู้พำนักระยะยาว และวีซ่าประเภทอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน

โดยกำหนดเวลาทำงานของหน่วยงานภายใน 90 วัน

วีซ่าพิเศษโฟกัส 4 กลุ่มหลัก

หลักการและเหตุผลของมติ ครม.เรื่องนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง จำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน แรงงาน และภาคธุรกิจ

สรุปสาระสำคัญของมาตรการแบ่งเป็น 2 เรื่องหลัก คือ การออกวีซ่าผู้พำนักระยะยาว (long-term resident visa) กับการแก้ไขกฎหมาย หรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติ

สำหรับ “การออกวีซ่า long-term resident visa เป็นการกำหนดวีซ่าประเภทใหม่ เพื่อรองรับชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง และต้องการเป็นผู้พำนักอาศัยในระยะยาว แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง (wealthy global citizen) ให้สิทธิทำงานพร้อมวีซ่า, ให้คู่สมรสและบุตรได้รับวีซ่าผู้ติดตามไปพร้อมกันด้วย, ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากต่างประเทศ (รวมทั้งรายได้ที่นำเข้ามาในปีภาษีเดียวกัน)

นิยามคือ ลงทุนขั้นต่ำ 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ ในพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI-foreign direct investment) หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์, มีรายได้เงินเดือนหรือเงินบำนาญขั้นต่ำปีละ 8 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา, มีทรัพย์สินขั้นต่ำ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (wealthy pensioner) นิยามลงทุนขั้นต่ำ 2.5 แสนดอลลาร์สหรัฐในไทย, มีเงินบำนาญขั้นต่ำ ปีละ 4 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ, ถ้าไม่ได้ลงทุนในไทย ต้องมีเงินบำนาญขั้นต่ำปีละ 8 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ

3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand professional) นิยามมีรายได้ส่วนบุคคลปีละ 8 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 2 ปี หรือปีละ 4 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ หากสำเร็จการศึกษาปริญญาโทขึ้นไป/ครอบครองทรัพย์สินทางปัญญา/ได้รับเงินทุน series A1 และมีประสบการณ์ทำงาน 5 ปี

4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (high-skilled professional) ได้สิทธิประโยชน์หลักเช่นเดียวกับประเภทอื่น ๆ แต่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรายได้ในประเทศไทย อัตรา EEC

ทั้งนี้ มอบหมายให้ BOI จัดตั้งหน่วยบริการพิเศษเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก และลดขั้นตอนการดำเนินงานสำหรับผู้ถือวีซ่าผู้พำนักระยะยาว

ดึงต่างชาติมั่งคั่ง 1 ล้านคน

สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับ มีดังนี้ 1.ดึงดูดชาวต่างชาติมั่งคั่ง 1 ล้านคน ให้ย้ายถิ่นฐานมาพำนักอาศัยในประเทศ

2.เพิ่มปริมาณเงินใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่ 1-2.5 แสนล้านบาท บนสมมติฐานการใช้จ่ายในประเทศเฉลี่ย 1 ล้านบาท/คน/ปี

3.เพิ่มปริมาณเงินลงทุนในระบบเศรษฐกิจ 7.5 หมื่นล้านบาท/1.87 แสนล้านบาท ประเมินจากเงินลงทุนชาวต่างชาติมั่งคั่ง 1 หมื่นคน และชาวต่างชาติวัยเกษียณ 8 หมื่นคน

4.เพิ่มรายได้ทางภาษี 2.5-6.25หมื่นล้านบาท ประเมินจากผู้ถือวีซ่าในกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ จำนวน 4 แสนคน

จุดโฟกัสคือ เรื่อง “อายุมาตรการพิเศษ” กำหนด 5 ปี นับตั้งแต่วันเริ่มบังคับใช้มาตรการ โดยสามารถขยายเวลาได้ตามความเหมาะสม

Leave a Reply