พิธีและธรรมเนียมปฏิบัติ : ธรรมเนียมการมอบของขวัญของจีน

ของขวัญชิ้นน้อยแต่เปี่ยมด้วยน้ำใจ

ในสังคมจีนเมื่อต้องการมอบของขวัญแก่ผู้อื่นควรพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละโอกาสและสถานการณ์

โดยทั่วไปเมื่อไปร่วมงานเลี้ยงที่บ้านเพื่อนหรือคนรู้จัก ควรนำของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ติดไปให้ภรรยาของเจ้าบ้าน

เช่น ช่อดอกไม้ ผลไม้หรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เป็นต้น



 

หากครอบครัวนั้นมีเด็กเล็ก อาจมอบของขวัญเป็นของเล่น ขนมหรือลูกอม

หากได้รับเชิญไปร่วมงานแต่งงาน นอกจากของขวัญประเภทของแต่งบ้านแล้ว

อาจจะมอบช่อดอกไม้หรือของขวัญที่ใช้ประโยชน์ได้แก่คู่บ่าวสาว ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่หรือเทศกาลโบราณต่างๆ

ปกติชาวจีนจะมอบปฏิทิน สุรา ใบชา ลูกกวาด หรือบุหรี่ให้เป็นของขวัญแก่กัน

 

จังหวะเวลาและวิธีการมอบของขวัญที่เหมาะสม

โดยทั่วไปผู้มอบควรมอบของขวัญให้แก่ผู้รับโดยตรง แต่หากเป็นงานแต่งงานอาจส่งของขวัญไปให้คู่บ่าวสาวก่อนวันงานได้

การมอบของขวัญปีใหม่หรือการมอบของขวัญในเทศกาลต่างๆ อาจส่งทางไปรษณีย์หรือวานให้ใครไปส่งถึงบ้านผู้รับก็ได้

หากผู้มอบไม่ได้มอบของขวัญแก่ผู้รับด้วยตนเองควรติดนามบัตรของตนไว้บนของขวัญด้วย

หรืออาจเขียนการ์ดอวยพรใส่ในซองขนาดพอเหมาะและเขียนชื่อผู้รับของขวัญบนหน้าซองให้ชัดเจน

จากนั้นจึงติดการ์ดอวยพรนี้ไว้บนห่อของขวัญ

ปกติแล้วการมอบของขวัญให้คนใดคนหนึ่งในกลุ่มคนที่อยู่รวมกันถือว่าไม่เหมาะสม

เพราะผู้รับอาจเข้าใจผิดว่าผู้มอบต้องการติดสินบนหรือหวังผลประโยชน์จากตน

นอกจากนี้ยังอาจทำให้คนอื่นที่ไม่ได้รับของขวัญรู้สึกว่าตนเองถูกหมางเมินหรือไม่ได้รับความสำคัญ

 

การมอบของขวัญแก่คนที่สนิทสนมกันก็ไม่ควรทำต่อหน้าผู้อื่น

ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าความสนิทสนมระหว่างผู้มอบและผู้รับเป็นความสัมพันธ์ที่พึ่งพาวัตถุ

การมอบของขวัญแก่คนที่สนิทสนมกันต่อหน้าคนจำนวนมากจะทำได้ก็ต่อเมื่อ

ของขวัญที่มอบให้นั้นเป็นของชิ้นเล็กที่มีความหมายพิเศษ เช่น ของที่ระลึกแทนใจ เป็นต้น

ในสถานการณ์เช่นนี้บุคคลอื่นๆ ที่อยู่ด้วยขณะมอบของขวัญก็จะกลายเป็น

ประจักษ์พยานแห่งมิตรภาพอันเปี่ยมด้วยความจริงใจระหว่างผู้มอบและผู้รับของขวัญ

 

ท่าทางเป็นมิตรและคำพูดที่เหมาะสมในการมอบของขวัญ

กิริยาท่าทางและคำพูดที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งในการมอบของขวัญ

เราควรใช้กิริยาท่าทางที่สุภาพและเป็นมิตรรวมถึงใช้คำพูดที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้รับยินดีรับของขวัญอย่างเต็มใจ

การแอบนำของขวัญไปวางไว้ใต้โต๊ะหรือวางไว้ที่ใดที่หนึ่งในบ้านถือเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม

เพราะนอกจากจะไม่ได้ผลตามที่ต้องการแล้วยังอาจได้รับผลในทางตรงกันข้ามด้วย

ตามธรรมเนียมปฏิบัติของจีน โดยทั่วไปเมื่อจะมอบของขวัญให้ผู้อื่น

ผู้มอบมักจะใช้คำพูดที่ถ่อมตัวมากว่า (ของขวัญเพียงเล็กน้อย) หรือ (น้ำใจเพียงเล็กน้อย) เป็นต้น

เมื่อต้องการบอกรายละเอียดของของขวัญ ควรย้ำกับผู้รับว่าของขวัญนี้เป็นสิ่งแสดงน้ำใจ และความรู้สึกดีที่ผู้มอบมีต่อผู้รับ

ไม่ควรพูดถึงราคาค่างวดของของขวัญ

มิฉะนั้น จะกลายเป็นการให้ความสำคัญกับสิ่งของมากกว่ามิตรภาพ

หรืออาจทำให้ผู้รับรู้สึกว่าการรับของขวัญชิ้นนี้เหมือนการรับสินบนเอาไว้

 

ข้อควรระวังในการเลือกของขวัญ

การเลือกของขวัญจะต้องคำนึงถึงข้อห้ามและการถือเคล็ดของคนจีนด้วย เช่น

ในสังคมจีนจะมีคำกล่าวที่ว่า  (เรื่องดีมีเป็นคู่)

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นโอกาสงานมงคลหรืองานเฉลิมฉลองใดก็ตาม ควรให้ของขวัญเป็นจำนวนคู่

แต่มีข้อควรระวังอย่างหนึ่งคือ คนกวางตุ้งถือว่าเลข “4” เป็นเลขอัปมงคล

เพราะเลข “4” ในภาษากวางตุ้งออกเสียงคล้ายกับคำว่า “ตาย”

นอกจากนี้สีต่างๆ ก็มีความหมายเฉพาะตัวเช่นกัน โดยทั่วไปแม้ว่าสีขาวจะหมายถึงความบริสุทธิ์ปราศจากมลทิน

แต่สำหรับคนจีนแล้วสีขาวมักให้ความหมายในทางโศกเศร้าหรือยากจน

สีดำเป็นสีอัปมงคลที่สื่อถึงเภทภัยและการสูญเสีย

ส่วนสีแดงเป็นสีมงคลที่ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการเฉลิมฉลอง จึงเป็นสีที่ได้รับความนิยมมากในหมู่คนจีน

 

ข้อควรระวังในการเลือกของขวัญอีกประการหนึ่งคือ

ไม่ควรมอบนาฬิกาให้เป็นของขวัญแด่ผู้สูงอายุ

เนื่องจากคำว่า“ซ่ง จง” “送钟” (มอบนาฬิกา) ออกเสียงเหมือนกับคำว่า“ซ่ง จง” “送终”

(ดูแลอยู่ข้างกายญาติผู้ใหญ่ขณะใกล้สิ้นใจ)

และไม่ควรให้สาลี่แก่คู่รักหรือคู่สามีภรรยา

คำว่า หลี “梨” (สาลี่) ออกเสียงเหมือนกับ หลี “离” ( แยกจาก)

ไม่ควรมอบดอกเบญจมาสให้ เพราะชาวจีนถือว่าเป็นดอกไม้ใช้สำหรับงานศพ

และเวลาคุณจะมอบหรือรับของขวัญก็ตาม รวมไปถึงนามบัตรด้วย คุณควรใช้มือทั้งสองข้างรับหรือให้ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความจริงใจ

และความเคารพนบนอบของคุณ (สมัยก่อน การใช้มือสองข้างก็เป็นการแสดงให้อีกฝ่ายหนึ่งได้เห็นว่าคุณไม่ได้พกอาวุธมาด้วย)

 

ที่มา : China Radio International. + Manager

 

 

Leave a Reply