เทศกาลกินเจ ประจำปี 2564 “ซบเซา” ตามคาด ถึงแม้สถานการณ์โควิดฯภายในประเทศ จะเริ่มมีสัญญาณบวก และหลากหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่ม “ผ่อนคลาย” บ้างแล้วก็ตาม แต่ปีนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยเฉพาะหน้าเพิ่มเติม ที่เข้ามากระทบความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จนส่งผลฉุดรั้งกำลังซื้อ และอาจสร้างความไม่สะดวกต่อการใช้จ่าย ซึ่งจะไปดูกันว่ามีปัจจัยอื่นๆ อะไรบ้าง ที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ ???

 

 “น้ำท่วม-โควิด” ทำจับจ่ายกินเจซบเซา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิดในประเทศที่ดีขึ้น ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่ลดลงต่ำกว่าระดับ 1 หมื่นคนในบางวัน การเร่งและกระจายการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน จนนำมาสู่การคลายล็อกดาวน์กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงเริ่มต้นไตรมาสสุดท้ายของปี การผ่อนคลายข้อจำกัดสำหรับการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ครอบคลุมหลายจังหวัดมากขึ้น สะท้อนว่าภาวะซบเซาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจน่าจะผ่านจุดเลวร้ายที่สุดจากโรคโควิดมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาสถานการณ์ต่างๆ พบว่า ยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่อาจจะกระทบความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่สำคัญเฉพาะหน้า คือ สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนว่า จะยกระดับความรุนแรงมากขึ้นเพียงใด เนื่องจากเหตุการณ์ยังไม่ยุติ ฤดูฝนยังไม่สิ้นสุด และมีการคาดการณ์ว่าอาจจะยังมีพายุลูกใหม่เข้ามาหลังจากนี้

“ราคาน้ำมัน” เป็นอีกตัวแปร ทำกร่อย

นอกจากนี้ การเร่งตัวขึ้นของราคาพลังงานในตลาดโลกท่ามกลางเงินบาทที่อ่อนค่า ก็เป็นอีกตัวแปรที่จะส่งผลต่อทิศทางราคาพลังงานในประเทศให้ขยับสูงขึ้น ซึ่งจากทั้งสองปัจจัยดังกล่าว ไม่เพียงจะมีผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคที่เดิมก็เปราะบางอยู่แล้ว ขณะเดียวกันความไม่สะดวกในการเดินทางและการขนส่งในพื้นที่ประสบภัย ความเสียหายต่อพืชผลเกษตร ก็ยังเป็นแรงกดดันด้านต้นทุนและราคาสินค้าโดยเฉพาะผัก ซึ่งอาจส่งผลกระทบตามมาต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเวลานี้ และช่วงเทศกาลกินเจ

 

คาดกินเจ 64 เม็ดเงินหดตัว 8.2%

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมีมุมมองที่ค่อนข้างระมัดระวังต่อสถานการณ์และบรรยากาศในการจับจ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลกินเจระหว่างวันที่ 6-14 ต.ค. 2564 นี้ โดยคาดว่า ในช่วงเทศกาลกินเจปี 2564 คนกรุงเทพฯ จะมีเม็ดเงินค่าใช้จ่ายตลอดช่วงเทศกาลคิดเป็นมูลค่า 3,600 ล้านบาท หดตัว 8.2% เมื่อเทียบกับเทศกาลกินเจปีก่อน ซึ่งนอกจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ข้างต้นแล้ว คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่น่าจะยังคงใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง และยังมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยในการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน

“WFH-ความปลอดภัย” ส่งผลเช่นกัน

แม้ว่าผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า คนกรุงเทพฯ 55% ยังคงสนใจเข้าร่วมเทศกาลกินเจ แต่มีการปรับลดจำนวนวันในการกินเจลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากความไม่สะดวกในการบริโภค เนื่องจากเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปสู่การ Work From Home และลดการออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น และสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการเข้าถึงแหล่งจับจ่ายที่คุ้นเคยในปีก่อนๆ ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจร้านอาหารข้างทางบริเวณสถานที่ทำงาน ทั้งแบบตักขายและนั่งทานในร้านอาจได้รับผลกระทบ จากความกังวลของผู้บริโภคในเรื่องของความปลอดภัย และไม่สะดวกในการออกไปจับจ่าย

“ผักแพง” ทำยอดจับจ่ายวูบ

ด้าน นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้เปิดเผยสถานการณ์ราคาสินค้าช่วงก่อนเทศกาลกินเจปีนี้ หลังลงพื้นที่ตลาดสดยิ่งเจริญว่า จากการสอบถามผู้ค้าพบว่า การจับจ่ายใช้สอยเทศกาลกินเจปีนี้ลดลง 30-40% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19 ประกอบกับผู้บริโภคซื้ออาหารเจสำเร็จรูปมากขึ้น โดยราคาผักและผลไม้ส่วนใหญ่ราคาสูงกว่าเทศกาลกินเจปีที่แล้ว จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ทำให้การขนส่งผลผลิตจากแหล่งผลิตมีปัญหา สินค้าเข้าสู่ตลาดน้อยลง ราคาสูงขึ้น แต่กรมได้แก้ไขปัญหาด้วยการประสานไปยังสมาคมตลาดสด สมาคมตลาดกลาง ให้เชื่อมโยงผักเข้าสู่ตลาดสดให้เพียงพอต่อความ ต้องการบริโภค โดยกรมจะช่วยเรื่องรถขนส่ง โดยช่วงที่ผ่านมาได้เชื่อมโยงไปยัง จ.ชัยภูมิ ที่มีปัญหาน้ำท่วมแล้ว ขณะที่ราคาวัตถุดิบเจ เช่น เส้นหมี่ โปรตีนเกษตร เห็ดหอมทรงตัวเท่ากับปีก่อน และสินค้ามีเพียงพอ

ห้าม “พ่อค้า-แม่ค้า” อ้างน้ำมัน ขึ้นราคาสินค้า 

สำหรับผลกระทบราคาน้ำมันขายปลีกที่ปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้นั้น กรมได้ติดตามดูแลว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าอย่างไรบ้าง โดยจากการศึกษาพบว่า มีผลกระทบต่อต้นทุนผลิตสินค้าไม่ถึง 1% เช่น หมวดอาหารและเครื่องดื่ม มีผลกระทบต่อต้นทุนเพียง 0.007-0.3% สินค้าของใช้ประจำวันมีผลกระทบต่อต้นทุน 0.0017-0.14% เป็นต้น ซึ่งไม่มีผลทำให้ต้องปรับขึ้นราคาขายสินค้า และกรมยืนยันว่าไม่มีการอนุญาตให้ผู้ประกอบการขึ้นราคาสินค้า โดยอ้างต้นทุนราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเด็ดขาด

“ขอเตือนผู้ประกอบการอย่าฉวยโอกาสซ้ำเติมประชาชน ด้วยการปรับขึ้นราคาสินค้า โดยเฉพาะในช่วงที่ประชาชนเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถ้าพบมีการฝ่าฝืน จะใช้กฎหมายจัดการขั้นเด็ดขาดคือ จำคุก 7 ปี ปรับ 114,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ปีนี้ใช้จ่าย “ต่ำสุด” ในรอบ 14 ปี

ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจ พบว่าเทศกาลกินเจปีนี้ไม่คึกคัก ปริมาณการใช้จ่ายลดลงกว่าปีก่อน ประชาชนซื้ออาหารเจน้อยลง ทำให้ยอดใช้จ่ายกินเจปีนี้ ติดลบครั้งแรกในรอบ 14 ปี นับจากสำรวจปี 2551 โดยมีเม็ดเงินสะพัด 40,000 ล้านบาท เฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อคนอยู่ที่ 3,330 บาท และติดลบถึง 14.5% หากเทียบกับปีก่อนที่มีเงินสะพัด 46,900 ล้านบาท ปัจจัยกดดัน มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ เศรษฐกิจไม่ดี กลัวเรื่องโควิดระบาด และวิตกสถานการณ์น้ำท่วม จะสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนและการเกษตร จนกระทบต่อราคาอาหารแพงขึ้น

สิ้นสุดมาตรการลดค่าน้ำ-ไฟ ดันเงินเฟ้อ ก.ย.64 พุ่ง

ด้าน นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ก.ย.2564 ว่า เท่ากับ 101.21 เทียบกับเดือน ส.ค.64 เพิ่มขึ้น 1.59% ส่วนเทียบเดือน ก.ย.63 เพิ่มขึ้น 1.68% ขยายตัวอีกครั้งหลังจากติดลบ 0.02% ในเดือน ส.ค.64 ขณะที่เงินเฟ้อเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 64 เพิ่มขึ้น 0.83% เงินเฟ้อพื้นฐาน (หักอาหารสดและพลังงาน) ดัชนีอยู่ที่ 100.59 เพิ่มขึ้น 0.16% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.64 และเพิ่มขึ้น 0.19% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.63 ส่วนเฉลี่ย 9 เดือน เพิ่มขึ้น 0.23%

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เป็นผลจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงยังสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยสูงถึง 32.44% ประกอบกับการสิ้นสุดลงของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล ตั้งแต่เดือน ส.ค.64 ทั้งการลดค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา รวมถึงราคาไข่และผลิตภัณฑ์นม เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคใน-นอกบ้านสูงขึ้น ส่วนปัจจัยทอนเงินเฟ้อไม่ให้สูงขึ้นมาก คือ ราคาอาหารสดทรงตัว โดยเฉพาะข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ไก่สด ผัก-ผลไม้สด เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ค่าเทอม ที่เป็นผลจากมาตรการของรัฐที่ช่วยลดค่าเทอม ฯลฯ

ปรับเป้าเงินเฟ้อปีนี้ใหม่เป็น 0.8-1.2%

“ในเดือน ก.ย.เงินเฟ้อสูงขึ้น จากราคาน้ำมันเป็นหลัก คาดว่าช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ ราคาน้ำมันจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ สนค.ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีใหม่เป็นขยายตัว 0.8-1.2% หรือมีค่ากลางที่ 1% บวกลบ 0.2% จากการขึ้นภาษีบุหรี่ น้ำท่วม และเทศกาลกินเจ ราคาผัก ผลไม้เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาพลังงานที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้รัฐมีอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล แต่ไม่ได้อุดหนุนเบนซิน รวมถึงไม่มีมาตรการลดค่าครองชีพ ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าต่ออีก คาดจะทำให้เงินเฟ้อเดือน ต.ค.เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1% และทั้งไตรมาส 4 ปีนี้ น่าจะเพิ่มได้ 1.4-1.8%”

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นนั้น คาดว่าจะทำให้เงินเฟ้อปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงอย่างน้อยเดือน มี.ค.2565 จากนั้นอิทธิพลของราคาน้ำมันต่อเงินเฟ้อจะลดลง โดยการปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ใหม่เป็น 0.8-1.2% จากเดิม 0.7-1.7% อยู่ภายใต้สมมติฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) 0.7-1.2% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 65-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และค่าเงินบาท 31.5-32.5 บาทต่อเหรียญ

cr. ไทยรัฐ

Leave a Reply