กินเจ 2018 เจาะเรื่องน่ารู้เทศกาลถือศีลกินผัก 9 วัน 9 คืน

มาถึงอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีน นั้นคือ ‘เทศกาลกินเจ’ สำหรับวันกินเจปีนี้ตรงกับวันที่ 9-17 ตุลาคม 2561 รวม 9 วัน 9 คืน สมัยนี้คนไทยส่วนใหญ่แม้จะไม่มีเชื้อจีน ก็หันมาบริโภคอาหารเจกันมากขึ้น

1. เทศกาลกินเจ คืออะไร

เทศกาลกินเจ หรือประเพณีถือศีลกินผัก เป็นประเพณีของชาวพุทธนิกายมหายานแบบลัทธิเต๋า ถือปฏิบัติรวม 9 วัน กำหนดเอาวันตามจันทรคติ คือ เริ่มต้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนของทุกปี

มีจุดเริ่มต้นจากชาวเปอรานากันในอดีตเมื่อหลายร้อยปีก่อน ปัจจุบันเทศกาลกินเจจัดขึ้นในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซียบางส่วน

2. เจ แปลว่า ไม่กินเนื้อสัตว์

คำว่า “เจ” ในภาษาจีนมีความหมายทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานว่า “อุโบสถ” คำว่า “กินเจ” ตามความหมายที่แท้จริงคือการรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน การถืออุโบสถศีลของชาวพุทธฝ่ายมหายาน คือการไม่กินเนื้อสัตว์ จึงนิยมเรียก “การไม่กินเนื้อสัตว์” ไปรวมกับคำว่า “กินเจ” ซึ่งเป็นการถือศีลไปด้วย

3. ทำไมต้องกินเจ?

การกินเจ เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาพุทธนิกายมหายาน (ลัทธิเต๋า) ซึ่งผู้คนที่นับถือนิกายนี้ก็จะมีความเชื่อว่า การไม่บริโภคเนื้อสัตว์ ถือเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง โดยมีคำกล่าวว่า

“การกินเจ งดเว้นเนื้อสัตว์ของคาว คือ การปฏิบัติธรรม รักษาศีลของความเป็นมนุษย์ เป็นการเจริญมหาเมตตากรุณาธรรมโดยแท้ อันจะนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และก่อให้เกิดสันติสุขแก่ทุกชีวิตบนโลก”

อีกอย่างคือเหตุที่คนสมัยใหม่ที่หันมากินเจมากขึ้น เพราะเชื่อกันว่าหากเรางดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จะเป็นการล้างพิษออกจากร่างกาย ช่วยให้ระบบทางเดินอาหารกลับมาทำงานได้ดีขึ้น เพราะย่อยง่าย แถมอาหารเจก็มีประโยชน์ เพราะส่วนใหญ่ทานได้แค่ผัก ผลไม้

4. คนไทยกินเจตั้งแต่เมื่อไหร่ 

มีข้อมูลระบุว่า คนไทยรู้จัก ‘การกินเจ’ มายาวนานแล้ว เชื่อกันว่าน่าจะเกิดขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2170 ซึ่งตรงกับสมัยอาณาจักรอยุธยา

5. สัญลักษณ์ธงเจ แปลว่า?

เมื่อเทศกาลกินเจมาถึงทีไร เรามักจะเห็นร้านขายอาหารเจเขาปักธงสีเหลืองๆ ไว้เต็มไปหมด เพื่อให้คนกินเจทราบว่า ร้านเหล่านี้ปรุงอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์มาขาย ซึ่ง ‘ธงเหลือง’ ที่คุณเห็นปักอยู่ก็มีความหมายด้วยนะ สาเหตุที่ธงเจเป็นสีเหลือง หมายถึง สีของพระพุทธศาสนาหรือผู้ทรงศีล โดยบนธงจะเขียนตัวอักษรสีแดงว่า ‘เจ’ แปลว่า ‘ของไม่มีคาว’ นั่นเอง

6. วิธีกินเจที่ถูกต้อง

การกินเจ จริงๆ แล้วสามารถทำได้ทุกวัน ไม่ต้องทำเฉพาะในช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน 9 คืน ก็ได้ ซึ่งผู้ที่กินอาหารครบทั้ง 3 มื้อ แต่ไม่กินเนื้อสัตว์ ก็ยังคงเรียกว่า “กินเจ” อยู่เหมือนเดิม

คนกินเจที่จะได้บุญถึงพร้อมนั้น ไม่ใช่แค่งดบริโภคเนื้อสัตว์อย่างเดียว แต่คนที่กินเจยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม (ถือศีล ) มีความบริสุทธิ์ สะอาด งดงาม ทั้งกาย วาจา ใจ เป็นการถือศีลบำเพ็ญธรรมไปด้วยพร้อมกัน

ทำได้แบบนี้ถึงจะเรียกว่า ‘กินเจที่แท้จริง’ ดังนั้นจึงมีคำคล้องจองที่เราได้ยินอยู่เสมอ คือ “ถือศีลกินเจ”

7. อาหารเจ ต่างกับ อาหารมังสวิรัติ?

บางคนมักเข้าใจผิดว่า อาหารเจกับอาหารมังสวิรัติคืออย่างเดียวกัน จริงๆ แล้วมันมีข้อแตกต่างกันอยู่…เริ่มจากอาหารเจ เป็นอาหารที่ปรุงโดยปราศจากเนื้อสัตว์ แต่ต้องละเว้นผักที่มีกลิ่นฉุนต่างๆ ด้วย เช่น กระเทียม หัวหอม ต้นหอม กระเทียมโทนจีน กุยช่าย ผักชี และใบยาสูบ (น้ำผึ้งเขาก็ห้ามกินด้วยนะจ๊ะ)

ส่วนอาหารมังสวิรัติเป็นอาหารที่ละเว้นเนื้อสัตว์เช่นกัน แต่สามารถกินผักได้ทุกชนิด และยังสามารถกินนมและไข่ได้ด้วย

8. กินเจ ขาดสารอาหารไหม?

เนื่องจาก ‘อาหารเจ’ เป็นอาหารที่เน้นผักผลไม้เป็นหลัก งดเนื้อสัตว์ ซึ่งก็จะทำให้อิ่มแป๊บเดียว หิวบ่อย จึงต้องกินพืชผักในปริมาณที่มากกว่าปกติเพื่อให้อิ่มท้อง แต่ทั้งนี้ก็ต้องกินโปรตีนจากถั่วและงาชนิดต่างๆ เพื่อมาทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่เราขาดไป ดังนั้นการกินเจไม่ทำให้ขาดสารอาหารนะคะ

9. กินเจ ลดความอ้วน!

รู้หรือไม่? การกินอาหารเจ ช่วยลดน้ำหนักได้ แต่ทั้งนี้ก็ควรเลือกอาหารเจที่ไม่มัน เน้นผัก ถั่ว ผลไม้ แต่ไม่เน้นแป้ง แนะนำว่าให้กินคาร์โบไฮเดรตให้พอดี และเลือกทานเป็นพวกข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต หรือข้าวหุงผสมกับธัญพืชถั่วงาจะดีที่สุด หลีกเลี่ยงข้าวขัดขาว
 และอาหารเจที่ปรุงโดยใช้น้ำมันเยอะๆ นอกจากนี้ควรกินมื้อระหว่างวันด้วย เช่น นมถั่วเหลือง เพื่อให้ร่างกายไม่หิวโหยเกินไป ช่วยให้ไม่วูบ

ทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับการกินเจ ที่เรารวบรวมมาฝากกัน สำหรับเทศกาลกินเจปีนี้ก็ขอให้ทุกคนกินได้ครบทั้ง 9 วัน ได้บุญล้นหลาม และมีสุขภาพแข็งแรงกันทุกคนจ้า.
ที่มา : สสส., eclipse-clp

Leave a Reply